ในช่าง 1-2 ปีที่ผ่านมานับเป็นปีทองของ Cryptocurrency อย่าง Bitcoin ก็ให้ผลตอบแทนหลายเท่าตัวในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มี 4 ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงของ Bitcoin ข้อถกเถียงประเด็นที่หนึ่ง คือ Bitcoin มีจำนวนจำกัด เป็นสินทรัพย์ที่ถูกออกแบบมาให้มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านบิทคอยน์ เท่านั้นเอง ซึ่งจะแตกต่างจากสกุลเงินต่างๆที่ควบคุมโดยธนาคารกลางอาจจะถูกพิมพ์ออกมาได้เรื่อยๆโดยไม่จำกัด และเหตุนี้เองนักลงทุนก็มองว่าเมื่อสกุลเงินที่ถูกพิมพ์ออกมาเยอะๆก็จะเกิดเงินเฟ้อสกุลเงินที่ถืออยู่ก็จะด้อยค่าลง ในขณะที่ Bitcoin น่าจะยังรักษามูลค่าไว้ได้เพราะว่าไม่ได้ถูกผลิตออกมาจนล้นตลาด คุณสมบัติข้อนี้ยังทำให้หลายๆคนมองว่า Bitcoin มีลักษณะคล้ายทองคำเพราะมีอย่างจำกัดในธรรมชาติ
อย่างไรก็ตามคุณสมบัติข้อนี้อาจถูกหักล้างได้จาก 2 เหตุผล คือ
1.มีเหรียญดิจิทัลใหม่ๆเกิดขึ้นมาแข่งกับ Bitcoin เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าสำหรับตลาด Cryptocurrency ทั้งหมดอาจไม่ได้มีจำนวนจำกัดเหมือนกับ Bitcoin
2.ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณจำกัด ถ้าวันหนึ่งผู้คนเลิกให้ความสนใจ Bitcoin แล้วตัว Bitcoin เองก็อาจจะไม่ได้เหลือมูลค่าอะไรเลยก็ได้ซึ่งตรงนี้ต่างจากทองคำที่อาจจะยังมีประโยชน์อย่างอื่นอยู่บ้าง
ประเด็นถกเถียงข้อที่สอง คือ การที่ผู้คนมองว่า Bitcoin น่าจะมาเป็นตัวกลางในการใช้จ่าย หรือที่เรียกว่า Medium of exchange จุดประสงค์ดั้งเดิมของ Bitcoin ถูกคิดขึ้นมาเพื่อให้มาเป็นระบบชำระเงินที่ปลอดภัย ปัญหาก็จะมีตามมาอีก 2 ข้อ 1.มูลค่าของ Bitcoin ยังคงมีค่าความผันผวนค่อนข้างมากทำให้นำไปใช้จริงได้ยาก 2.การประมวลผลของ Bitcoin ยังช้าเกินไปสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทุกวันนี้ก็มีเหรียญ Crypto ใหม่ๆที่ออกแบบมาให้ประมวลผลได้เร็วมากขึ้น ประเด็นถกเถียงข้อที่สาม การมาของ Decentralized Finance (Defi) หรือการทำธุรกรรมการเงินแบบไร้ตัวกลาง สามารถทำธุรกรรมที่ซับซ้อนขึ้นมาได้ หลายๆคนมองว่าอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่มาเป็นดิสรัปชันที่สำคัญมากๆ ถ้ามีคนเข้ามาใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อเสียคือการทำงานมีความซับซ้อนต้องมีความรู้ความเข้าใจในโปรแกรมมิ่งอาจเข้าถึงคนหมู่มากได้ยาก แต่ Defi ก็ต้องถือเป็นพัฒนาการของวงการ Crypto ที่ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ข้อถกเถียงประเด็นที่สี่ คือ การมาของ Central Bank Digital Currency (CBDC) ก็คือการที่ธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกกำลังศึกษาที่จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมา เช่น ดิจิทัลยูเอสดอลล่าร์ ดิจิทัลยูโร หรือแม้แต่ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยก็มีโปรเจคที่ชื่อว่า อินทนนท์ ที่กำลังศึกษาสร้างดิจิทัลบาทขึ้นมา
สรุปได้ว่า ด้วยสถานะปัจจุบัน Bitcoin น่าจะมีลักษณะคล้ายกับทองคำดิจิทัลเพราะ Bitcoin มีปริมาณอยู่อย่างจำกัด และ Bitcoin ก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่ได้ถูกยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคม Crypto แต่อาจจะไม่เหมาะจะนำไปใช้จ่ายแทนเงินจริงในชีวิตประจำวัน โดย Bitcoin อาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆได้ถ้าโลก Cryptocurrency ยังคงเติบโตต่อไปและมีผู้คนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ